Pages

Saturday, June 5, 2010

แมมโมแกรม(Mammogram)

แมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีของเต้านม โดยการถ่ายภาพเอกซเรย์ธรรมดา เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเต้านม หาตำแหน่งของเนื้องอก และความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) โดยใช้ปริมาณรังสีที่น้อย แต่สามารถทำให้เห็นรายละเอียดภายในเนื้อเต้านมได้หมด และสามารถตรวจหามะเร็งเต้านม ในระยะเริ่มแรกได้ค่อนข้างแม่นยำ


การทำแมมโมแกรม (Mammogram) มีประโยชน์ในการตรวจค้นหาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่แสดงอาการ เนื่องจากการรักษาในระยะเริ่มแรกได้ผลดี และมีโอกาสหายขาดสูง



โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงทุกคน ควรได้รับการตรวจเป็นพื้นฐานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หรือปีเว้นปี ในช่วงอายุ 35-40 ปี, หลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านม ในครอบครัวหรือญาติด้านมารดา อาจจะยิ่งต้องตรวจเน้นกว่าปกติ



การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) สามารถทำการตรวจได้โดยไม่ต้องเตรียมตัวแต่อย่างใด เพียงแต่ให้งดทาแป้ง งดฉีดน้ำหอม งดทาลูกกลิ้ง บริเวณเต้านมและรักแร้ทั้งสองข้าง



เพื่อให้การตรวจได้ผลดีจะนิยมตรวจในช่วง 7 วัน หลังจากเริ่มประจำเดือน แต่ในกรณีมีก้อน หรือหญิงวัยหมดประจำเดือนก็สามารถรับบริการตรวจได้เลย



ขั้นตอนการตรวจ

การตรวจเอกซเรย์เต้านม จะมีการกดเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์ โดยจะมีการถ่ายภาพทั้งหมด 4 ภาพ ในขณะทำการตรวจ (กดเต้านม) ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อที่จะแยกรายละเอียดภายในเต้านมให้ชัดเจนขึ้น ในขณะที่ตรวจผู้ป่วยต้องยืนนิ่ง ๆ ไม่ขยับไปมา เพราะจะทำให้ภาพที่ออกมาไม่ชัดเจน (ภาพจะ Blur)



รังสีแพทย์จะทำการตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย และหลังจากการทำอัลตราซาวนด์แล้ว รังสีแพทย์ยังมีข้อสงสัย

ก็อาจจะให้ทำการถ่ายเอกซเรย์เพื่อขยายส่วนที่สงสัยเพิ่มเติม

Fine Needle Aspiration Biopsy (FNAB) under Ultrasound Guided

เป็นการใช้เข็มเจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้อหรือรอยโรคที่ผิดปกติในเต้านม ขนาดเล็ก ที่คลำไม่ได้ มาตรวจทางเซลล์วิทยา โดยใช้เครื่องอัลตราซาวน์ (Ultrasound) นำทางหาตำแหน่งก้อนหรือรอยโรคในเต้านม

Needle Localization Guided Biopsy

เป็นการแทงเข็มเพื่อบอกตำแหน่งก้อนเนื้อหรือรอยโรคที่ผิดปกติในเต้านม ในกรณีที่คลำไม่ได้โดยใช้เครื่องเอกซเรย์เต้านม เพื่อใช้ในการผ่าตัดก้อนเนื้อหรือรอยโรคที่ผิดปกติ

No comments:

Post a Comment