Pages

Saturday, June 12, 2010

การใช้รังสีทางการแพทย์

การใช้รังสีทางการแพทย์ดำเนินมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค โดยเริ่มจากการใช้เครื่องมือและวิธีการง่าย ๆ จนปัจจุบันมีการใช้เทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นที่ยอมรับว่ารังสีมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็มีโทษต่อมนุษย์อย่างมากด้วย ในการใช้รังสีทางการแพทย์ได้ถือหลักว่ารังสีให้ประโยชน์แก่มนุษย์คุ้มค่ากว่าความเสี่ยงจากอันตรายของรังสี




การใช้รังสีทางการแพทย์มีประโยชน์ไหม ?

มีประโยชน์แน่นอน ปัจจุบันประโยชน์ทางรังสีการแพทย์แบ่งได้เป็น 3 สาขา



รังสีวิทยาวินิจฉัย ที่ทันสมัยใช้วิเคราะห์โรคต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการตรวจคัดแยกโรค เช่น มะเร็งเต้านม โดยแมมโมแกรม และรังสีร่วมรักษาซึ่งได้รับการพัฒนามาภายใน 10-20 ปี นี่เอง

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ มีการใช้สารกัมมันตรังสี สารเภสัชรังสี ในการวินิจฉัย และรักษาโรคอย่างกว้างขวาง จากภาพการกระจายของสารรังสี หรือการนับวัดจากผู้ป่วยเพื่อศึกษาการทำงานของ อวัยวะ เช่น ต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น นอกจากนี้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ยังมีประโยชน์ด้านการติดตามการดำเนินโรคของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น มีการศึกษาพบว่ามีความคุ้มทุนสูงและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

รังสีรักษา การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี เทคนิคการรักษาที่สลับซับซ้อนด้วยเครื่องมือที่มีความก้าวหน้า ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อยลง การใช้รังสีอย่างพอเหมาะ ช่วยผู้ป่วยนับล้าน ๆ คน ให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นในแต่ละปี ในบางกรณี มีการใช้รังสีเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดลง ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจึงเห็นได้ว่าการใช้รังสี เป็นวิธีการพื้นฐานในการวินิจฉัยและรักษาโรคมีการเปรียบเปรยว่าสถาบันทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่ไม่ใช้รังสีเสมือนเป็นการดำเนินการไม่ครบวงจร



การใช้รังสีทางการแพทย์มีความเสี่ยงไหม ?

มีบ้าง แต่ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี ปริมาณรังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับการใช้รังสีในการรักษาโรค แต่หากใช้รังสีปริมาณต่ำเกินไปอาจเป็นผลเสีย ในการวินิจฉัยโรค เช่น อ่านผลไม่ได้ หรือไม่ถูกต้องแม่นยำ เป็นต้น ดังนั้นการใช้รังสีปริมาณพอเหมาะโดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์จะช่วยให้ใช้ประโยชน์จากรังสีได้สูงสุด และลดความเสี่ยงลงการใช้รังสีในการวินิจฉัยโรคบางประเภท ใช้ปริมาณรังสีสูง เช่น การวินิจฉัยโรคในระบบช่องท้องโดยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ข้อมูลสถิติทางการแพทย์ แสดงว่าความเสี่ยงจากรังสีที่ทำให้เกิดการตายเนื่องจากโรคมะเร็งมีประมาณ 1 ใน 2,000 คน หรือ 0.05% ในขณะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยอี่น มีถึง 1 ใน 4 หรือ 25%



มนุษย์ได้รับรังสีจากแหล่งกำเนิดทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวหรือ ?

ไม่ใช่ แหล่งกำเนิดรังสี แบ่งเป็นแหล่งใหญ่ได้ 2 แหล่ง คือ จากธรรมชาติ เช่น รังสีคอสมิคจากอวกาศ รังสีจากพื้นโลก และรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่รังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงงานอุตสาหกรรม เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู รังสีที่ใช้ทางการแพทย์ เป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า รังสีมีความเสี่ยงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามมนุษย์นำประโยชน์ของ รังสีมาใช้ทางการแพทย์ โดยบุคลากรทางการแพทย์ นักรังสีเทคนิค นักฟิสิกส์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ควรรู้จักวีธีการป้องกันอันตรายจากรังสี โดยมีหลักการดังนี้\

1. ลดเวลาในการสัมผัสรังสี นั่นคือ ใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการสัมผัสรังสี เช่น เอกซเรย์

2.ใช้วัสดุกำบังรังสี เช่น เสื้อตะกั่ว, กำแพงกำบังรังสี

3.บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องพยายามอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดรังสีให้มากที่สุด

4.บุคลากรทางการแพทย์มีเครื่องวัดปริมาณรังสีติดตัว มีเครื่องตรวจวัดรังสีประจำห้อง



ชนิดของรังสีที่ใช้ทางการแพทย์



1.รังสีเอกซ์ เป็นรังสีที่มนุษย์ทำขึ้น รังสีเอกซ์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นพวกเดียวกับคลื่นแสง แต่มีความถี่สูง จึงมีพลังงานสูง สามารถทะลุผ่านวัตถุต่าง ๆ ได้

I. รังสีเอกซ์พลังงานช่วงกิโลอิเล็กตรอนโวลท์ใช้ในการวินิจฉัยโรค

II. รังสีเอกซ์ขนาดพลังงานสูงในช่วงล้านอิเล็กตรอนโวลท์ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่อยู่ลึกเข้าไปจากผิว

2. รังสีแกมมา เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี รังสีแกมมาเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ สารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้อาจอยู่ในรูปของแข็ง เช่น โคบอลต์-60 ซีเซียม-137 ใช้รักษาโรคโดยการฉายรังสีและใส่แร่ ส่วนสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในรูปของเหลว ใช้ในงานของเวชศาสตร์นิวเคลียร์

3. รังสีเบต้า เกิดจากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี ซึ่งอาจอยู่ในรูปของแข็ง เช่น สตรอนเชียม-90 รักษาโรคตา หรืออยู่ในรูปของเหลวใช้ในการรักษาและวินิจฉัยโรค

4. ลำอิเล็กตรอน ได้จากเครื่องเร่งอนุภาค เช่นเดียวกับรังสีเอกซ์พลังงานสูง ใช้รักษามะเร็งที่อยู่ใกล้พื้นผิว



รังสีรักษา

ในปัจจุบันนี้รังสีมีประโยชน์สำคัญทางการแพทย์อย่างหนึ่ง คือ การนำรังสีมา ใช้รักษาและบำบัด โรคมะเร็ง

รังสีรักษาทางการแพทย์ เรียกง่าย ๆ ว่า การฉายรังสี หรือการฉายแสง ซึ่งรังสีที่ใช้รักษานี้ มีพลังงาน สูง ทำให้มีอำนาจในการทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ได้ดี แหล่งกำเนิดรังสีเพื่อใช้ทางรังสีรักษามี 2 ประเภท คือ แหล่งกำเนิดรังสี ที่มนุษย์ผลิตขึ้น เช่น เครื่องเร่งอนุภาคซึ่งให้รังสีเอกซ์ รังสีอิเล็กตรอน โปรตอน หรือ นิวตรอน เป็นต้น และแหล่งกำเนิดรังสีจากธรรมชาติ ได้แก่ สารกัมมันตรังสี ต่าง ๆ อาทิ โคบอลต์-60 ซีเซียม 137 อิริเดียม 192 ซึ่งให้รังสีแกมมา

รังสีที่ได้จากแหล่งกำเนิดดังกล่าวข้างต้น สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยมีหลักการคือรังสีจะฆ่าเซลล์ที่เติบโตเร็ว ดังนั้นเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วจึงถูกทำลายได้ง่าย ซึ่งรวมถึงเซลล์ปกติใน ร่างกายมนุษย์ซึ่งแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์เยื่อบุลำไส้ ก็มีโอกาสถูกทำลายด้วย อย่างไรก็ตาม เซลล์ปกติของมนุษย์ มีความสามรถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง จึงสามารถกลับ สู่สภาวะปกติได้ดีหลังจากได้รับรังสี นอกจากนี้แพทย์ทางรังสีรักษามีเครื่องมือและวิธีการ เพื่อทำให้ลำรังสีเข้าถึงบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อปกติให้น้อยที่สุด

รังสีรักษา มีผลต่อมะเร็งเฉพาะบริเวณที่ฉายเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนการผ่าตัดคือตัดเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การฉายรังสี และการผ่าตัดเป็นการรักษาเฉพาะที่ และไม่ก่อให้เกิด การแพร่ กระจายของเซลล์มะเร็งไปที่อวัยวะอื่น มะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาหายได้ด้วยรังสีรักษา เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งผิวหนัง

การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน แพทย์ทางมะเร็งวิทยาจะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน กล่าวคือให้ การผ่าตัดและฉายรังสีเป็นการรักษาเฉพาะที่และใช้การรักษาเสริม คือ การให้ยาเคมีบำบัด หรือยาต้านเซลล์ มะเร็งฉีดหรือกิน เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ที่อาจกระจายอยู่ในอวัยวะอื่น ๆ

นอกจากการรักษาด้วยรังสีแบบระยะไกลโดยใช้เครื่องฉายรังสีแล้ว การใส่แร่หรือ การรักษาด้วย รังสีแบบระยะใกล้ (Brachytherapy) ยังเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้รังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยแพทย์จะนำสารกัมมันตรังสีซึ่งอยู่ในรูปแบบเม็ดหรือแท่งขนาดเล็กให้เข้าไปอยู่ชิดบริเวณที่เป็นมะเร็งให้มากที่สุด การใส่แร่นี้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การวางแร่ในเข็มซึ่งแทงเข้าไปในก้อนมะเร็งหรือการวางแร่ใน ก้อนมะเร็งโดยตรง (Interstitial Implantation) การวางแร่ในเครื่องมือ สอดใส่แร่ของมะเร็งปากมดลูก (Intracavitary Brachytherapy) และการวางแร่ลงในสายพลาสติก เพื่อรักษาอวัยวะที่เป็นรูกลวง (Intraluminal Brachytherapy) เช่น มะเร็งหลอดอาหาร

โดยปกติแล้วการรักษาด้วยรังสีแบบระยะไกลด้วยเครื่องฉายรังสี และการใส่แร่ หรือการรักษาด้วยรังสีแบบระยะใกล้ ไม่ทำให้ผู้ป่วยซึ่งได้รับการฉายรังสีมีรังสีตกค้างอยู่ในตัว นั่นคือผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ อยู่ใกล้คนใกล้ชิดได้เหมือนคนปกติ อย่างไรก็ตาม การดื่มสารกัมมันตรังสี เช่น ไอโอดีน 131 ซึ่งใช้ในการรักษาหรือวินิจฉัยต่อมธัยรอยต์ อาจมีรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วยหรือสิ่งคัดหลั่ง ซึ่งรังสีที่ตกค้างนั้นเป็นรังสีซึ่งมีค่าครึ่งชีวิตสั้น กล่าวคือ รังสีจะลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วใน 2-3 วัน ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลรักษาะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ในช่วงเวลา ดังกล่าวโดยผู้ป่วยต้องแยกตัวจากคนใกล้ชิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆและเมื่อ ปริมาณรังสีหมดไปก็สามารถทำกิจวัตรได้ตามปกติ ผู้ป่วยซึ่งอยู่ในช่วงที่ใช้รังสีรักษา จะได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิด จากแพทย์ พยาบาลนักฟิสิกส์การแพทย์ เจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ที่ดีที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากขึ้น จึงมีการนำเครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งมีความแม่นยำปลอดภัยมาใช้ในทางรังสีรักษา ได้แก่ การผ่าตัดโดยใช้รังสี เช่น แกมมาไนฟ์ (Gamma Knife) การฉายรังสี3 มิติ (3 Dimension Radiation Therapy) และการฉายรังสีปรับความเข้ม (Intensity-modulated radiaiton therapy) ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ

สำหรับผลข้างเคียงของการรับการรักษาด้วยรังสี ถึงแม้ว่าอาจทำให้เกิด ความไม่สบายตัวอยู่บ้าง แต่ผลข้างเคียงมักจะบรรเทาอย่างรวดเร็วหลังจากได้การรักษาครบ แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะเป็น ผู้ดูแลตลอดการฉายรังสีและเมื่อครบการรักษาแล้ว ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคน จะแตกต่างกัน ตามตำแหน่งที่ได้รับรังสี ปริมาณรังสีและสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนหน้าที่จะได้รับรังสีผลข้างเคียงซึ่งพบบ่อยคือ อ่อนเพลีย ผิวหนัง คล้ำบริเวณที่ถูกรังสี ความอยากอาหารลดลง ขนหรือผมบริเวณที่ถูกรังสีบางลง ซึ่งผลข้างเคียงนี้มักไม่รุนแรงและผู้ป่วยยังสามารถทำงาน หรือกิจวัตรได้เช่นเดียวกับก่อนฉายรังสี

นอกจากรังสีจะใช้รักษาก้อนมะเร็งแล้ว ยังมีการใช้รังสีเพื่อบรรเทาอาการปวด จากมะเร็งระยะลุกลาม เช่น การปวดกระดูก การปวดศีรษะจากมะเร็งลุกลามไปที่สมอง (Brain Metastasis) การใช้รังสีเพื่อช่วยในการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplantation) การใช้รังสีเพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็งมาที่สมอง (CNS Prophylaxis) และการรักษาโรคอื่น นอกจากโรคมะเร็ง เช่น การป้องกันเส้นเลือดอุดตันซ้ำหลังผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจ (Restenosis Prophylaxis) การป้องกันการเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด (KeloidProphylaxis) เป็นต้น



เวชศาสตร์ นิวเคลียร์

ปัจจุบันในวงการแพทย์ ได้นำสารกัมมันตรังสี มาใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างมากมาย เช่น ใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยการแพร่กระจายของมะเร็งมายังกระดูก ตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ตรวจการทำงานของไต ตรวจการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันการรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสีได้มีการยอมรับกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะการใช้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน (131I) เพื่อรักษาภาวะต่อมธัยรอยด์เป็นพิษและมะเร็งต่อมธัยรอยด์ ได้มีการใช้กันมามากกว่า 50 ปี แล้วก่อนอื่นเราควรทำความรู้จักว่า "สารกัมมันตรังสี" คืออะไรก่อน สารกัมมันตรังสี คือ สารที่สามารถปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปรังสี ซึ่งรังสีที่ปลดปล่อยออกมามีหลายชนิด เช่น รังสีเบต้า, รังสีแกมมา เป็นต้น ซึ่งรังสีต่างๆเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมากมาย





สารกัมมันตรังสี รักษาและบำบัดโรคได้อย่างไร?

การรักษาและบำบัดโรคด้วยสารกัมมันตรังสี อาศัยหลักการดังนี้ คือหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับสารกัมมันตรังสี โดยการรับประทานหรือฉีดเข้าไปในร่างกาย สารกัมมันตรังสีนั้นจะเข้าสู่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่มีความเฉพาะเจาะจง และมีผลทำให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นได้รับรังสีอย่างเต็มที่โดยตรง ขณะเดียวกันเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียงจะได้รับปริมาณรังสีในระดับต่ำ จึงลดอันตรายจากรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติ และทำให้สามารถบริหารสารกัมมันตรังสีซ้ำได้หลายครั้งโดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อเนื้อเยื่อปกติอื่น สำหรับประสิทธิภาพของการรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสีพบว่ามีประสิทธิภาพสูงในการรักษา อาทิเช่น ผู้ป่วยภาวะต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ สามารถหายจากโรคหลังจากรับประทานสารกัมมันตรังสีไอโอดีน เพียงครั้งเดียว ถึง 60%, ผู้ป่วยมะเร็งต่อมธัยรอยด์บางชนิดพบว่ามีอัตราการตายต่ำลง หลังจากได้รับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี และผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระดูกจากการแพร่กระจายของมะเร็งพบว่า 70% ของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษา มีอาการปวดลดลง และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น



สารกัมมันตรังสี วินิจฉัยโรค ได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคด้วยสารกัมมันตรังสีตรังสี อาศัยหลักการเช่นเดียวกับการใช้สารกัมมันตรังสีในการรักษาโรค คือ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าไป ซึ่งอาจจะได้รับโดยการฉีด การรับประทาน หรือการหายใจเข้าไป สารกัมมันตรังสีจะเดินทางไปตามส่วนต่างๆของร่างกายที่มีความเฉพาะเจาะจง จากนั้นจะแผ่รังสีแกมม่าออกมา(รังสีแกมม่าเป็นรังสีที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า) โดยรังสีแกมม่าจะแสดงตำแหน่งที่ผิดปกติจากภายในร่างกายออกมา ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือชนิดพิเศษทำการตรวจจับรังสีแกมม่า แล้วนำมาสร้างเป็นภาพต่างๆของร่างกาย ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคแก่ผู้ป่วย



การตรวจวินิจฉัยโรคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้แก่

1. การวินิจฉัยสมอง (Brain Scan) : ใช้ในการศึกษาการไหลเวียนของเลือดในสมองและศึกษาปัญหาทางสมองต่างๆ เช่น โรคสมองอักเสบ โรคลมชัก และ ความจำเสื่อม

2. การตรวจต่อมธัยรยอด์ (Thyroid Uptake and Scan) : ใช้ในการศึกษาความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ ตลอดจนดูการทำงานของต่อมธัยรอยด์ว่ามีการทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป

3. การวินิจฉัยปอด (Lung Scan) :เป็นการศึกษาที่ใช้บ่อยเพื่อวินิจฉัยการอุดตันของหลอดเลือดในปอด

4. การวินิจฉัยระบบหัวใจ (Cardiac Imaging) : เป็นการศึกษาที่ใช้เพื่อดูการทำงานของหัวใจ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

5. การวินิจฉัยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร (GI Imaging) :ใช้ในการศึกษาการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และภาวะอุดตันของระบบทางเดินน้ำดี

6.การตรวจกระดูก (Bone scan) :ใช้ในการตรวจหาบริเวณที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งมายังกระดูก และดูการติดเชื้อของกระดูก



สรุป

ช่วงเวลากว่า 100 ปี ที่ผ่านมา มนุษย์ได้ศึกษาคุณสมบัติของรังสี อันตรายและผลที่มีต่อสิ่งมีชีวิต โดยละเอียด ทำให้สามารถนำรังสีมาใช้ประโยชน์อย่างปลอดภัย และตามความจำเป็น มีการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการใช้ให้ปลอดภัย นอกจากนี้การใช้รังสีในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อนนำมาใช้กับมนุษย์ เพื่อยืนยันว่าประโยชน์จากรังสี จะต้องมากกว่าโทษที่จะได้รับอย่างแน่นอน



ที่มา: http://www.chulacancer.net/p0000517.htm

1 comment:

  1. Casino.com - Dr. Md.
    Casino.com. 부천 출장샵 Located in 양주 출장마사지 Hollywood at Maryland's Horseshoe Casino and Hotel, 제천 출장마사지 this Maryland 의왕 출장샵 casino and hotel is 0.1 mi (0.0 대구광역 출장안마 km) from Hanover International Airport and 1

    ReplyDelete