การฉายรังสี หรือ เรียกโดยคนทั่วไปว่า ฉายแสง คือ การรักษาโรคโดยการฉายรังสีในบริเวณที่เป็นโรค หรือเรียกว่า รอยโรค อาจฉายครอบคลุมไปถึงต่อมน้ำเหลืองที่อาจมีโรคลุกลามด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะของโรคมะเร็ง ชนิดของโรคมะเร็ง และ สุขภาพผู้ป่วย
การฉายรังสี โดยเครื่องฉายรังสีซึ่งมีหลายประเภท เป็นเครื่องคล้ายเครื่องตรวจทางเอ็กซเรย์ แต่มีขนาดใหญ่กว่า การรักษา โดยผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง มีหัวเครื่องฉายอยู่ด้านบน ห่างจากตัวผู้ป่วย ประมาณ 60-70 ซม. หัวเครื่องฉาย ถ้าปิดเครื่องจะไม่มีรังสีออกมา หัวเครื่องฉายจะหมุนได้รอบตัวผู้ป่วย สามารถฉายรังสีให้กับผู้ป่วยได้ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง โดยผู้ป่วยไม่ต้องขยับตัวเปลี่ยนท่านอนระหว่างได้รับการฉายรังสี การควบคุมเครื่องฉายรังสี การจัดท่าผู้ป่วย และการให้การรักษาด้วยการฉายรังสี อยู่ในการควบคุมดูแลโดยนักรังสีเทคนิค/นักรังสีการแพทย์ (ไม่ใช่จากแพทย์) ซึ่งได้รับการเรียน การสอน การอบรม ฝึกงานด้านการฉายรังสี ซึ่งจะจัดท่าผู้ป่วย เทคนิค ปริมาณรังสี ตรงกับในการวางแผนจากเครื่องจำลองภาพ และจากนักฟิสิกส์การแพทย์
โดยทั่วไป จะฉายรังสี วันละ 1 ครั้ง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หยุดพัก 2 วัน แล้วเริ่มต้นใหม่ เวียนไปจนครบได้ปริมาณรังสีตามแพทย์กำหนด แต่ตารางการฉายรังสีอาจเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์กำหนด
การฉายรังสีมักให้การรักษาผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยนอก เมื่อฉายรังสีเสร็จ ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ทำงานต่อได้ และกลับมารับการรักษาใหม่ในวันรุ่งขึ้น หรือตามตารางการรักษาที่แพทย์กำหนด
ระหว่างฉายแสง/รังสี แพทย์รังสีรักษา มักห้าม
ห้ามดื่มสุรา หรือ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์
ห้ามสูบบุหรี่
ห้ามตั้งครรภ์ ผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธ์ุ ต้องคุมกำเนิด
ห้ามกินยาสมุนไพร โดยไม่ปรึกษาแพทย์รังสีรักษา
ห้ามนอนดึก หรือพักผ่อนไม่พอเพียง
ห้ามอดอาหาร ห้ามรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารสูตรพิเศษอื่นๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์รังสีรักษาก่อน เพราะจะทำให้ได้อาหารไม่เพียงพอ ขาดอาหารที่จะฟื้นฟูร่างกาย และไขกระดูก
ห้ามหยุดการรักษาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์รังสีรักษา
No comments:
Post a Comment